Article
ประมวลสินบนระหว่างโรลส์ รอยซ์ การบินไทย และปตท.
โดย act โพสเมื่อ Feb 06,2017
ขั้นตอนตรวจสอบล่าสุด: สินบนโรลส์ - รอยซ์ ล็อบบี้จัดซื้อการบินไทย-ปตท.
สรุปความคืบหน้าสินบนโรลส์-รอยซ์ จ่ายผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การบินไทย - ปตท. รวม 1,658 ล้านบาท ทั้งการบินไทยและ ปตท. ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อมูล ขณะที่ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานสืบสวนและเริ่มขอข้อมูลจากหน่วยงานอังกฤษหรือ SFO แล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสินบนการบินไทยช่วงแรกและช่วงสอง 2534 - 2540 หมดอายุความแล้ว ด้าน สตง. ทำหนังสือขอข้อมูลตัวบุคคลจากอังกฤษเช่นกัน
(ภาพประกอบ: อิศเรศ เทวาหุดี)
สินบนการบินไทย ล็อบบี้จัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ 3 ดีล
กรณีโรยส์-รอยซ์จ่ายสินบนการบินไทย ถูกเปิดเผยเมื่อ สำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (Serious Fraud Office - SFO) แสดงข้อมูลการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตยานยนต์และอากาศยานของอังกฤษ ในคดีขายเครื่องยนต์ไม่โปร่งใสใน 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย รัสเซีย ไนจีเรีย จีน และมาเลเซีย ภายหลังจากที่บริษัทโรลส์-รอยซ์ ได้บรรลุข้อตกลงเจรจายอมความกับ SFO โดยต้องจ่ายให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา 6,000 ล้านบาท ทางการบราซิล 900 ล้านบาท และต้องจ่ายค่ายอมความถึง 2.8 หมื่นล้านบาทกับทางการอังกฤษ
ผลการสืบสวนของ SFO กรณีของประเทศไทย การบินไทยได้ซื้อเครื่องยนต์จากบริษัทโรลส์-รอยซ์ 3 ครั้ง และมีการจ่ายสินบนรวม 1,273 ล้านบาท
ครั้งแรกระหว่าง 1 มิถุนายน 2534 ถึง 30 มิถุนายน 2535
มีการจ่ายค่านายหน้าคนกลางให้กับ “นายหน้าระดับภูมิภาค” และ “นายหน้าที่ 3” จำนวน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (658 ล้านบาท) เงินดังกล่าวมีการนำไปให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อโน้มน้าวให้การบินไทยซื้อเครื่องยนต์ T800 ทำให้ในเดือนมิถุนายนปี 2534 การบินไทยสั่งเครื่องบินโบอิง 777 (B777) จำนวน 6 ลำ และต่อมาในเดือนมีนาคมเพิ่มอีก 2 ลำ กลายเป็น 8 ลำ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ T800 ของโรลส์-รอยซ์
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2535 ถึง 31 มีนาคม 2540
มีการจ่าย 10.38 ล้านเหรียญสหรัฐ (363 ล้านบาท) เพื่อให้ “นายหน้าที่ 3” และ “นายหน้าภูมิภาค” โดยนายหน้า 3 นำเงินดังกล่าวบางส่วนให้เจ้าหน้าที่ในการบินไทย และ “ผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเมือง” รวมทั้ง “ที่ปรึกษาทางการค้า” (Commercial Adviser) ซึ่งรับผิดชอบจ่ายค่านายหน้าภายในประเทศทั้งนี้เพื่อโน้มน้าวให้มีการซื้อเครื่องยนต์ T800 ทำให้มีการจัดซื้อเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ T800 ของโรลส์-รอยซ์
ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2548
มีการจ่ายเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (252 ล้านบาท) ให้กับ "นายหน้าที่ 3 " และ "นายหน้าระดับภูมิภาค" เงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทยเป็นค่านายหน้า เพื่อช่วยให้โรยลส์-รอยซ์ขายเครื่องยนต์ที-800 ในเครื่องบินรุ่นโบอิง 777 ให้กับการบินไทย
โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส 340 (A340) จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ สำหรับเครื่องโบอิง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว
และในปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องบินแอร์บัส 340 และเครื่องยนต์ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินโบอิง B777
ในเอกสารที่สำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (SFO) เปิดเผย ในหน้าที่ 17 ยังระบุว่า มีอีเมล์ภายในของของโรลส์-รอยซ์ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 บันทึกถึงการหารือระหว่าง "นายหน้าที่ 3 " และ "นายหน้าระดับภูมิภาค" และ "คนในรัฐบาลไทย" โดยระบุถึงการหารือว่า "เป็นการหารือที่ดีมาก มีผลตอบรับในทางบวกต่อธุรกิจซื้อเครื่องบิน A340 และ B777 และอยู่ในวาระการประชุมของ ครม. วันที่ 23 พฤจิกายน"
โดยจากการค้นหามติคณะรัฐมนตรี 23 พฤศจิกายน 2547มีเอกสารจากกระทรวงคมนาคมชงคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้การบินไทยจัดหาเครื่องบิน 14 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินโบอิง 777 จำนวน 6 ลำ ตรงกับดีลในเอกสารคดีโรลส์-รอยซ์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
สินบน 385 ล้านบาท ช่วยโรลส์-รอยซ์ชนะประมูล 6 โครงการ ปตท.
กรณีที่เกิดขึ้นกับ ปตท. กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เปิดเผยคำพิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ประจำรัฐโอไฮโอตอนใต้ ระบุว่า บริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ คือ Rolls-Royce Energy Systems, Inc. หรือบริษัท "RRESI" ประกอบด้วย ผู้บริหารในบริษัทลูก 1 ราย พนักงาน 3 ราย และคนอื่นๆ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายสินบน 35 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับนายหน้า เป็นค่าที่ปรึกษาด้านการค้า ซึ่งเงินดังกล่าวถูกจ่ายในนามค่าคอมมิสชัน ให้กับบริษัทด้านพลังงานในไทย แองโกลา อาเซอร์ไบจาน อิรัก คาซักสถานและอื่นๆ รวมทั้งไทย และบราซิล เพื่อแลกกับการได้เป็นผู้ชนะการประมูลคู่สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ และบริการรบำรุงรักษาในโครงการต่างๆ
ในกรณีของประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง 2555 บุคคลในบริษัทลูกของโรลส์รอยส์ ประกอบด้วย ผู้บริหาร 1 พนักงาน 1 พนักงาน 2 พนักงาน 3 และบุคคลอื่น มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายค่ารักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นการจ่ายสินบน จำนวนเงินกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 385 ล้านบาท เพื่อทำให้ บริษัท "RRESI" ได้สัมปทานการทำธุรกิจจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. รวมไปถึงบริการดูเเลหลังการขาย
โดยบริษัท RRESI ได้จ่ายเงินสินบนราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ “นายหน้า 4” เป็นค่าที่ปรึกษาทางการค้า เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจในโครงการที่ทางบริษัท PRESI ชนะการประมูลได้แก่
1. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) (24 ก.ค. 46 - 16 พ.ย. 47) จำนวนเงิน 2,494,728 เหรียญสหรัฐ หรือ 87.32 ล้านบาท
2. หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) (19 ม.ค. 49 – 24 ม.ค. 51) จำนวนเงิน1,386,389 เหรียญสหรัฐ หรือ 48.52 ล้านบาท
3. แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) (19 ม.ค. 49 – 18 ม.ค. 51) จำนวนเงิน 1,096,006 เหรียญสหรัฐ หรือ 38.36 ล้านบาท
4. โครงการ PCS (29 ก.ย. 49 – 11 ก.ย. 51) จำนวนเงิน 2,073,010 เหรียญสหรัฐ หรือ 72.56 ล้านบาท
5. .โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) (24 พ.ค. 50 – 18 ก.พ. 56) จำนวนเงิน 1,934,031 เหรียญสหรัฐ
6. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 (28 มี.ค. 51 – 13 พ.ย. 52) จำนวนเงิน 2,287,200 เหรียญสหรัฐ หรือ 80.05 ล้านบาท
จากข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา พบว่าในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2553 -2555 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด ได้ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงิน 254,553,893 บาท แบ่งเป็น ROLLS-ROYCE SINGAPORE PTE LTD ซึ่งมีสำนักงานในสิงคโปร์ 1 สัญญา วงเงิน 1.87 ล้านบาท และเป็นการจัดซื้อจากRolls Wood Group ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา 6 สัญญา วงเงิน 252.68 ล้านบาท
นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังพบว่า ระหว่าง พ.ศ. 2552 – 2556 ปตท.จัดซื้อ เครื่องยนต์ Rolls-Royce และอะไหล่ Rolls-Royce จากบริษัทขายเครื่องยนต์แห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในประเทศไทยอีกเกือบสิบสัญญา มูลค่านับร้อยล้านบาท (2552-2556) โดยบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญากับ ปตท. ระหว่างปี 2545- ม.ค. 2556 อย่างน้อย 38 สัญญา มูลค่า 755.7 ล้านบาท
(ภาพประกอบ: อิศเรศ เทวาหุดี)
รัฐบาลและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจในช่วงที่เกิดเหตุ
การบินไทย
การจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ครั้งแรก ระหว่าง 1 มิถุนายน 2534 ถึง 30 มิถุนายน 2535 ตรงกับช่วงรัฐบาล รสช. ที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคือ นุกูล ประจวบเหมาะ และบรรหาร ศิลปอาชา
ผู้บริหารการบินไทย ตรงกับช่วง พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย และมีวีระ กิจจาทร เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
การจัดซื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2535 ถึง 31 มีนาคม 2540 ตรงกับช่วงรัฐบาล รสช. ที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แก่ นุกูล ประจวบเหมาะ พันเอก วินัย สมพงษ์ วิชิต สุรพงษ์ชัย วันมูหะมัดนอร์ มะทา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และสุเทพ เทือกสุบรรณ
ผู้บริหารการบินไทย ช่วงปี 2535 - 2536 ฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย และพล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ เป็นประธานบอร์ด ช่วงปี 2536-2543 มีนายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย และ พล.อ.อ. ม.ร.ว. ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ด
การจัดซื้อครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2548 ตรงกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
ผู้บริหารการบินไทยในช่วงเวลาดังกล่าว กนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ขณะที่ประธานบอร์ดการบินไทยคือทนง พิทยะ และในปี 2548 มีการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดมาเป็นวันชัย ศารทูลทัต
ปตท.
ระหว่างปี 2546-2554 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คือประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และไพรินทร์ ชูโชติถาวร ตามลำดับ และยังไม่มีข้อมูลว่าผู้บริหารทั้ง 2 ราย เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อดังกล่าว
(ภาพประกอบ: อิศเรศ เทวาหุดี)
กระบวนการการตรวจสอบ ปตท.-การบินไทย-ป.ป.ช.-ส.ต.ง.
18 มกราคม 2560 ในรายงานของบีบีซีไทย จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ระบุว่าคณะกรรมการบริหารของบริษัท มีมติให้ฝ่ายบริหารตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด โดยต้องการทราบรายละเอียดและเกี่ยวข้องกับกับบุคลใดบ้าง ทั้งอดีตพนักงาน อดีตผู้บริหาร และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในช่วงนั้น หากพบว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องแม้ว่าจะเกษียณอายุการทำงานไปแล้วก็สามารถที่จะนำตัวมาลงโทษได้
ด้าน ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคล และกำกับกิจการองค์กร การบินไทย กล่าวว่า ระเบียบของบริษัทเปิดช่องให้สอบสวนผู้บริหารและอดีตผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือทำให้องค์กรได้รับความเสียหายได้ โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และสามารถขอขยายได้อีก 90 วัน อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริงการบินไทยพร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบต่อไป
ในรายงานของไทยรัฐ เมื่อ 21 มกราคม 2560 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยจะกำลังเร่งรวบรวมข้อมูลการดำเนินการ กระบวนการ และผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ในช่วงปี 2543-2556 รวมทั้งจะเชิญผู้แทนของ บริษัท ซีเมนส์ ซึ่งได้ซื้อกิจการของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เมื่อปลายปี 2557 เพื่อมาสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเอกสารของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมด้วย โดยจะสรุปรายงานเบื้องต้นเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทภายในสัปดาห์หน้า หากพบการกระทำผิด ก็จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
23 มกราคม 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เปิดเผยว่า สตง.ได้ทำหนังสือประสานความร่วมมือขอข้อมูลจากอังกฤษเพื่อเจาะจงตัวบุคคล ทั้งผู้จ่ายและผู้รับสินบนการบิน คาดว่าจะได้รายชื่อคนไทยทั้งหมดที่ไปรับเงินจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ และจะเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ในเร็วๆ นี้ ยืนยันกรณีดังกล่าวจะไม่ซ้ำรอยกับคดีซีทีเอ็กซ์ ขณะเดียวกัน สตง.ได้ส่งสายตรวจ เข้าตรวจสอบหลักฐานการจัดซื้อของทั้ง ปตท. และการบินไทยแล้ว แม้จะยังไม่ได้ข้อมูลจากต่างประเทศ แต่ก็กำลังตรวจสอบอยู่เช่นกัน
ในรายงานของไทยรัฐ เมื่อ 24 มกราคม 2560 สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ช.ที่ 33/2560 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูล กรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งกรณีจ่ายสินบนให้อดีตผู้บริหารและพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และกรณีจ่ายสินบนให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.)
โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวมี สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย สาโรจน์ พึงรำพรรณ ผอ.สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐวิสาหกิจ นิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักการต่างประเทศ สุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ อัครกิตติ์ กีรติธนาไชยยศ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ นอกจากนี้คณะทำงานยังประกอบด้วย พนักงานไต่สวนชำนาญการพิเศษ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ พนักงานไต่สวนชำนาญการ เจ้าหน้าที่การต่างประเทศปฏิบัติการ นิติกรปฏิบัติการผู้ช่วยพนักงานไต่สวนปฏิบัติการ รวม 15 ราย
ทั้งนี้ ในคำสั่งกำหนดให้คณะทำงานมีหน้าที่ สืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) จ่ายสินบนในการซื้อขายเครื่องยนต์อากาศยานและเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบสวนและรวบรวมข้อมูลเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา, ดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมาย ทั้งนี้คำสั่งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน โลกวันนี้ รายงานว่าในการเสวนาโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เมื่อ 25 มกราคม 2560 ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจการองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 2 คณะ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด ในทางธุรกิจการบินไทยพิจารณาเบื้องต้นว่าหากพบหลักฐานจาก SFO ว่ามีการจ่ายสินบนหรือค่าตอบแทนพิเศษ แสดงว่าการบินไทยจัดหาเครื่องสูงกว่าที่ควรจะเป็น การบินไทยอาจจะฟ้องทางแพ่งกับผู้เกี่ยวข้องกับสินบน เนื่องจากทำให้การบินไทยเสียหาย ส่วนกรณีการขึ้นแบล็กลิส หรือยกเลิกการทำการค้ากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอาจจะส่งผลต่อการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของการบินไทย
27 มกราคม 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ เปิดเผยว่าได้ประชุมทางไกลกับสำนักสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักร (SFO) เมื่อวันที่ 26 มกราคม โดย SFO ได้ขอให้ ป.ป.ช. ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าเป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว และระบุด้วยว่า ต้องการสอบถามเรื่องใด ประเด็นใด ส่งเป็นข้อคำถามไปอย่างชัดเจน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งหนังสือให้เอสเอฟโอได้
นอกจากนี้ยังยอมรับว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี หากกรณีใดหมดอายุความก็ต้องยอม แต่ก็ยังเหลือกรณีอื่นๆ ที่ยังสามารถเอาผิดได้ และระบุด้วยว่า SFO ยังกังวลเรื่องที่ประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตกับคดีการทุจริต โดย ป.ป.ช.จะชี้แจงประเด็นดังกล่าว ว่าคดีเรียกรับสินบนนั้นไม่เคยมีการพิพากษาประหารชีวิตใคร แต่ ป.ป.ช.ไม่กังวล เพราะเคยได้ชี้แจงเรื่องนี้จากการขอข้อมูลมาหลายครั้งแล้ว อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.เคยขอข้อมูลคดี GT200 ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้เช่นกัน แต่คณะทำงานฯ ป.ป.ช. ยืนยันว่า โทษดังกล่าวไม่เคยนำมาใช้นานมากแล้ว และปัจจุบันคงไม่มีการนำมาใช้อีก อย่างไรก็ดี อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ SFO มองว่า ภายในประเทศไทยยังคงมีการใช้อำนาจภายในจากรัฐบาล จึงกังวลถึงกระบวนการดำเนินคดีในเรื่องนี้ด้วย
ประธานคณะทำงานสืบสวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า คดีเรียกรับสินบนมีอายุความ 20 ปี ซึ่งการจ่ายสินบนช่วงแรก เมื่อปี 2534-2535 และช่วงที่สองปี 2535-2540 หมดอายุความไปแล้ว ไม่สามารถรื้อฟื้นมาทำอะไรได้อีก และหากให้ คสช.ใช้อำนาจภายในเพื่อไม่ให้คดีหมดอายุความ ต่อไปประเทศไทยรวมถึง ป.ป.ช. จะไม่น่าเชื่อถือต่อสายตานานาชาติอีก ดังนั้น จึงอาจให้หน่วยงานที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น บริษัทการบินไทย ดำเนินการฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกความเสียหายกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอาจร้องเรียนไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดทรัพย์สินได้ ส่วนกรณีการจ่ายสินบนช่วงที่สามเมื่อปี 2547-2548 ทราบพฤติการณ์และทราบชื่อทั้ง รมว.คมนาคม และ รมช.คมนาคม รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัทการบินไทย ที่มีพฤติการณ์นัดกินข้าวกับนายหน้าแล้ว แต่ยังไม่สามารถหาข้อเชื่อมโยงได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนอย่างไร ต้องรอให้ได้ความชัดเจนจากเอสเอฟโอก่อน จึงจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป
ขอขอบคุณ : หนังสือพิมพ์ประชาไท